เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [54. กัจจายนวรรค] 10. โมฆราชเถราปทาน
10. โมฆราชเถราปทาน
ประวัติในอดีตชาติของพระโมฆราชเถระ
(พระโมฆราชเถระ เมื่อจะประกาศประวัติในอดีตชาติของตน จึงกล่าวว่า)
[327] พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ทรงรู้แจ้งโลก ทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูลแก่สรรพสัตว์
เป็นพระมุนี มีพระจักษุ
เสด็จอุบัติขึ้นแล้วในกัปที่ 100,000 นับจากกัปนี้ไป
[328] พระองค์เป็นผู้ตรัสสอน ทรงแสดงธรรมให้สัตว์รู้ชัดได้
ทรงช่วยสรรพสัตว์ให้ข้ามพ้น
ทรงฉลาดในเทศนา เป็นพระพุทธเจ้า
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[329] พระองค์เป็นผู้อนุเคราะห์ ประกอบด้วยพระกรุณา
ทรงแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสรรพสัตว์
ทรงทำเดียรถีย์ที่มาเฝ้าทั้งหมดให้ดำรงอยู่ในศีล 5
[330] เมื่อเป็นเช่นนี้ ศาสนาจึงหมดความอากูล
ว่างจากพวกเดียรถีย์
และงดงามด้วยพระอรหันต์ทั้งหลาย ผู้ได้วสี ผู้คงที่
[331] พระมหามุนีพระองค์นั้น ทรงมีพระวรกายสูง 58 ศอก
มีพระฉวีวรรณคล้ายทองคำที่ล้ำค่า
มีพระลักษณะอันประเสริฐ 32 ประการ1
[332] ขณะนั้น สัตว์ทั้งหลายมีอายุประมาณ 100,000 ปี
พระชินสีห์พระองค์นั้น

เชิงอรรถ :
1 ดูเชิงอรรถหน้า 10 ในเล่มนี้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :283 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย อปทาน [54. กัจจายนวรรค] 10. โมฆราชเถราปทาน
ก็ดำรงพระชนมายุอยู่ประมาณเท่านั้น
ทรงช่วยหมู่ชนให้ข้ามพ้นได้เป็นจำนวนมาก
[333] ครั้งนั้น ข้าพเจ้ารับจ้างทำงานของบุคคลอื่นในตระกูลหนึ่ง
ในกรุงหงสวดี ข้าพเจ้าไม่มีทรัพย์สินอะไรที่เป็นของตนเลย
[334] ข้าพเจ้าอาศัยอยู่ที่ศาลาพักผ่อนที่เขาปรับพื้นไว้แล้ว
ได้ก่อไฟขึ้นที่ศาลา พื้นศิลาจึงดำเพราะถูกไฟไหม้
[335] ครั้งนั้น พระโลกนาถผู้ประกาศสัจจะ 4
ได้ตรัสสรรเสริญสาวกผู้ทรงจีวรเศร้าหมองในที่ประชุมชน
[336] ข้าพเจ้าพอใจในคุณนั้นของพระองค์ จึงได้ปรนนิบัติพระตถาคต
ปรารถนาตำแหน่งที่สูงสุดคือความเป็นผู้เลิศ
กว่าภิกษุผู้ทรงจีวรเศร้าหมอง
[337] ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคพระนามว่าปทุมุตตระ
ได้ตรัสกับสาวกทั้งหลายว่า
จงดูบุรุษนี้ผู้มีผ้าห่มเศร้าหมอง ร่างกายผอมบาง
[338] แต่สีหน้าผ่องใสเพราะปีติ
ประกอบด้วยทรัพย์คือ ศรัทธา มีโลมชาติชูชัน
มีใจร่าเริง ไม่หวั่นไหว เหมือนหมู่ไม้สาละที่หนาแน่น1
[339] บุรุษนี้ผู้มีความพอใจในคุณของภิกษุชื่อสัจจเสนะ
ผู้ทรงจีวรเศร้าหมองนั้น จึงปรารถนาตำแหน่งนั้น
[340] ข้าพเจ้าได้ฟังพุทธพยากรณ์นั้นแล้วเป็นผู้เบิกบาน
ซบศีรษะลงถวายพระชินเจ้า กระทำแต่กรรมที่ดีงาม
ในศาสนาพระชินเจ้าจนตลอดชีวิต

เชิงอรรถ :
1 เหมือนหมู่ไม้สาละวนที่หนาแน่น ในที่นี้ ได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ (องฺ.จตุกฺก. (แปล)
21/150/218)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :284 }